ไม่นานมานี้ เซอร์วิสชาร์จ กลายมาเป็นกระแสวิภาควิจารณ์ที่ถกเถียงกันอย่างมาก โดยประเด็นนี้มีที่มาจากโพสต์เฟซบุ๊ก มีใจความสำคัญว่า “ผมได้ปรึกษาทนาย ว่าร้านอาหารสามารถเก็บค่า service charge ลูกค้าได้ไหม จากการระดมสมองของกลุ่มทนายมือดี 6 คน เพื่อค้นหาและวิเคราะห์ข้อกฏหมายต่าง ๆ ปรากฏว่า ลูกค้ามีสิทธิ์ที่จะไม่จ่ายค่า service charge และทางร้านไม่มีสิทธิ์ในการเรียกเก็บ” แต่เราก็มักจะเห็นร้านอาหารมากมาย รวมถึงร้านอาหารดังๆ มีเก็บค่า Service Charge อยู่ดี … แล้วจริงๆ แล้ว เซอร์วิชชาร์จ คืออะไร นับเป็นค่าอะไร และ เซอร์วิสชาร์จ ร้านอาหาร มีสิทธิ์เก็บค่าเซอร์วิชชาร์จหรือไม่ หาคำตอบได้ในบทความนี้
ดราม่า เซอร์วิชชาร์จ
มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ได้ปฏิเสธการจ่ายค่าเซอร์วิสชาร์จมาตลอด 2 เดือน และตอบโต้กับทางผู้จัดการร้านว่า “คุณมีสิทธิอะไรมาคิดเงินผมเพิ่มอีก 10% นอกเหนือจากค่าอาหาร ผมท้าให้ฟ้องร้องเป็นคดีตัวอย่างเลย ให้ศาลตัดสินเป็นคดีแรกของประเทศไทยไปเลย”
แต่ปัจจุบันร้านอาหารโดยทั่วไปบางร้านก็มีการคิดค่าบริการในส่วนนี้เช่นกัน จนอาจทำให้บางท่านรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องจ่าย เพราะทางร้านไม่ได้บริการอะไรเป็นพิเศษ และบางร้านยังให้ลูกค้าบริการตัวเองอีกด้วย ซึ่งทำให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นร้อนและมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างในโลกโซเชียล จนผู้บริโภคอย่างเราอาจตั้งคำถามว่าจำเป็นต้องจ่ายหรือไม่ ? วันนี้เรามาทำความเข้าใจเรื่อง “เซอร์วิสชาร์จ” กันว่าสรุปแล้วคืออะไร ?
เซอร์วิสชาร์จ คืออะไร ?
เซอร์วิสชาร์จ (service charge) คือ ค่าบริการที่ผู้ประกอบการธุรกิจ เรียกเก็บจากผู้ใช้บริการภายในร้านเพิ่มนอกเหนือจากค่าสินค้า ซึ่งมีความแตกต่างจากการให้ทิป (สินน้ำใจ) ที่ให้โดยสมัครใจ
เซอร์วิสชาร์จในร้านอาหาร คือค่าอะไร ?
เรามักจะเห็นในใบเสร็จท้ายบิลค่าอาหาร ที่มีการแจกแจง Vat 7% และค่าบริการ หรือเซอร์วิชชาร์จ 10% เป็นการเก็บเพิ่มนอกเหนือจากค่าอาหาร ซึ่งเซอร์วิชชาร์จ เป็นค่าบริการที่ร้านอาหาร คิดเพิ่มจากผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการ และถือเป็นรายได้อีกส่วนหนึ่งที่นำมาแบ่งให้แก่พนักงานในแต่ละเดือน
เซอร์วิสชาร์จ คิดอย่างไร ?
สำหรับอัตราการเรียกเก็บ ค่าเซอร์วิสชาร์จ (service charge) ที่เหมาะสม ตามกฎหมายที่กรมการค้าภายในกำกับอยู่ คือ “ต้องไม่เกิน 10%“ เนื่องจากเป็นอัตราราคาที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่รับทราบตามสากลและยอมรับได้
ถึงแม้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคจะไม่ได้พูดถึงเรื่องเซอร์วิสชาร์จ (service charge) โดยตรง แต่ก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมการค้าภายในที่ระบุว่า ราคาสินค้าและบริการต้องแสดงราคาต่อหน่วย มีตัวเลขเป็นภาษาใดก็ได้ แต่ขอให้มีอารบิกอยู่ด้วย ทั้งนี้ ข้อความต้องเป็นภาษาไทย ในลักษณะที่เห็นชัดเจน เปิดเผย สามารถอ่านได้โดยง่าย เพื่อจะแสดงให้ผู้บริโภคทราบก่อนการตัดสินใจที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือใช้บริการ สิ่งนี้คือหน้าที่ของผู้ประกอบการธุรกิจในการขายสินค้า ถ้าไม่มีแสดง หรือแจ้งไม่ครบถ้วนก็มีความผิด โดยมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
หากไม่มีการขึ้นป้ายแจ้งอย่างชัดเจน ผู้บริโภคอาจปฏิเสธไม่ชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้ และสามารถร้องทุกข์ต่อ กรมการค้าภายใน เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ประกอบการธุรกิจได้
หากร้านอาหารจะเก็บ ค่าบริการ หรือ ค่าเซอร์วิสชาร์จ ต้องทำอย่างไร ?
หากร้านอาหารต้องการเรียกเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จ สามารถทำได้ แต่ต้องทำตามระเบียบข้อบังคับ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ ๖๙ พ.ศ. ๒๕๖๕ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค ดังนี้
(1) การแจ้งการเรียกเก็บค่าบริการ (Service charge) ผู้ประกอบการควรแสดงไว้บริเวณหน้าร้าน เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นได้ชัดเจนและสามารถตัดสินใจได้ว่าจะเข้าใช้บริการในร้านอาหารหรือไม่
(2) ค่าใช้จ่ายอื่นที่เรียกเก็บควรมีความชัดเจน โดยแสดงเป็นราคาต่อหน่วย หรือหากมีการเรียกเก็บโดยคิดจากราคาค่าอาหาร จะต้องมีการแสดงไว้ควบคู่กับการแสดงราคาอาหารในแต่ละรายการด้วย
(3) ค่าบริการ หรือ Service charge ที่เรียกเก็บ ควรกำหนดราคาที่เหมาะสมตามสมควร เพื่อไม่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยคำนึงถึงบริการที่เป็นพิเศษกว่าค่าบริการตามปกติ
หากร้านอาหารไม่แจ้งให้ชัดเจน หรือแสดงไม่ครบถ้วนตามข้อกำหนด ผู้บริโภคสามารถปฏิเสธที่จะไม่ชำระค่าบริการได้ และสามารถร้องทุกข์ต่อกรมการค้าภายใน เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ประกอบธุรกิจได้อีกด้วย
ดังนั้น หากผู้ประกอบการแสดงความชัดเจนเรื่อง “เซอร์วิสชาร์จ” (service charge) กับผู้บริโภค ด้านผู้บริโภคต้องชัดเจนในการตัดสินใจของตัวเองตั้งแต่เลือกเข้าร้านว่ายินดีจ่ายหรือไม่ เพราะเมื่อเข้าใช้บริการแล้วนั้นหากทางร้านมีการเรียกเก็บก็ถือเป็นเรื่องที่ยินดีและรับรู้ทั้ง 2 ฝ่าย แต่ทว่าหากผู้บริโภคพบเห็น หรือโดนร้านเก็บเซอร์วิสชาร์จเกิน 10 % หรือไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่มีการชี้แจงที่สมเหตุสมผล รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนราคาสินค้า สายด่วน กรมการค้าภายใน 1569 หรือ สายด่วน สคบ. 1166
จากดราม่าเซอร์วิสชาร์จร้านอาหาร ที่เกิดขึ้น อาจสรุปได้ว่า ร้านอาหารที่ใช้บริการ อาจไม่มีการแจ้งถึงการเก็บค่าบริการในส่วนนี้ ทำให้ลูกค้าไม่พอใจ และเกิดการฟ้องร้องขึ้นนั่นเอง หากร้านอาหารมีการแจ้งถึงค่าบริการดังกล่าวล่วงหน้า และมีความสมเหตุสมผลในการเก็บค่าบริการ ก็จะสามารถเลี่ยงประเด็นดราม่าที่จะเกิดขึ้นได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับ Hungry Hub เพื่อเพิ่มโอกาส เพิ่มยอดขายให้ร้านของคุณ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : สำหรับโรงแรม / สำหรับร้านอาหาร
หากร้านอาหารมีคำถาม หรือต้องการความช่วยเหลือจากทีม Hungry Hub สามารถติดต่อได้ที่ @hhforbusiness
อ่านบทความสำหรับผู้ประกอบการ ธุรกิจร้านอาหาร เพิ่มเติม
- ทำความรู้จัก Hungry Hub Corporate Service บริการหา ร้านอาหาร จัดเลี้ยง จัดเลี้ยงบริษัท ร้านอาหารได้ลูกค้า ลูกค้าได้ดีลถูกใจ!
- ทำความรู้จัก ซีอิ๊วเกาหลี ความอร่อยที่แตกต่าง พร้อมไอเดีย 8 เมนู ยอดฮิตขายดี
- อยากเป็น ร้านอาหาร มิชลินไกด์ ต้องทำอย่างไร หาคำตอบได้ที่นี่ !
- รวมเทคนิค จัดจานสเต็ก ให้ดูพรีเมียม เพิ่มมูลค่าให้กับเมนู พร้อมเพิ่มความประทับใจให้กับลูกค้า
- โปรโมทร้านอาหาร ด้วย 7 เทคนิค ที่ทำให้ลูกค้าอยากถ่ายร้านอาหารคุณลง Social